
การทำเหมืองเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ค่อนข้างทำลายสภาพแวดล้อมในบริเวณที่ทำเหมืองพอสมควร ไหนจะต้องเปิดหน้าดิน ตัดไม้ทำลายป่า ทำลายแหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องอีกหลายต่อหลายอย่าง ยังไม่พอ เมื่อเริ่มทำงานในเหมืองแล้วก็จะมีมลภาวะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้คนในบริเวณใกล้เคียงก็เลี่ยงกับการเผชิญปัญหาเหล่านี้ได้ยากมาก แต่สุดท้ายแล้วการทำเหมืองก็ยังมีความจำเป็นอยู่มาก เพราะทรัพยากรที่ได้จากเหมืองเรานำมาใช้ประโยชน์ได้หลายช่องทาง ดังนั้นก็อาจจะทำได้เพียงแค่จำกัดขอบเขตของพื้นที่สำหรับทำเหมือง
ความจริงแล้วการทำเหมืองสามารถแบ่งแยกย่อยได้หลายประเภท ไม่ได้มีเพียงแค่เหมืองทราย เหมืองหิน หรือเหมืองแร่ที่คนส่วนใหญ่ใช้เป็นคำเรียกรวมๆ กับบริเวณที่มีการทำเหมือง ลองมาดูกันว่ารูปแบบการทำเหมืองที่ได้รับความนิยมกันมากมีอะไรบ้าง
- เหมืองใต้ดิน ภาพการทำเหมืองแบบนี้เราจะเห็นได้บ่อยในภาพยนตร์ของต่างประเทศ เป็นการทำเหมืองที่ใช้วิธีขุดลงไปใต้ดินจนเป็นโพรงขนาดใหญ่ อาจมีการใช้เครื่องมือหนักในการขุดเจาะเมื่อถึงชั้นหินหรือชั้นดินแน่นที่เจาะได้ยาก เหมืองแบบนี้ไม่ค่อยรบกวนคนทั่วไปมากนัก แต่เป็นอันตรายต่อคนงานในเหมืองมาก
- เหมืองพลังน้ำ เป็นการทำเหมืองที่ทำได้ในพื้นที่จำกัด วิธีการคือฉีดน้ำพลังงานสูงไปยังผิวหน้าของแร่เพื่อให้เกิดการแตกตัวออกมา แล้วก็ทำการขนย้ายทันที การทำเหมืองแบบนี้มักจะเป็นฟังก์ชันเสริมในการทำเหมืองแร่อื่นๆ มากกว่า
- เหมืองตะกอนพัดพา อันนี้เป็นการพึ่งพิงพลังทางธรรมชาติ โดยรอให้กระแสน้ำจากชั้นใต้ดินผลักดันให้แร่ธาตุหลุดลอยออกมา มันจะไปปะปนอยู่กับตะกอนดินในแหล่งน้ำ เราก็แค่ทำการร่อนแร่เพื่อเอาไปใช้งาน
- เหมืองก้นทะเล เป็นการขุดหาแร่ที่อยู่ใต้ท้องทะเล แน่นอนว่าต้องใช้เรือขนาดกลางเป็นอย่างต่ำ ติดตั้งท่อดูดทรายจากก้นบึ้งของทะเลขึ้นมาพร้อมกับกรองเอาแร่ธาตุที่ติดมาด้วย วิธีนี้มีค่าใช้จ่ายสูงแต่ก็ได้แร่ธาตุที่ต้องการในปริมาณมากเช่นเดียวกัน
นี่เป็นเพียงบางส่วนของรูปแบบในการทำเหมืองแร่ ไม่ว่าจะใช้วิธีการใดมันก็คือการทำเหมือนแร่เหมือนกันหมด ใจความสำคัญคือนำทรัพยากรทางธรณีขึ้นแล้วคัดกรองเอาเฉพาะแร่ที่ต้องการ ซึ่งนับว่าต่างกันมากกับการทำเหมืองทราย
รู้จักกับเหมืองทราย
การทำเหมืองทรายถ้าพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือการหาแหล่งทรายทางธรรมชาติที่มีทรายอยู่ในปริมาณมาก มักจะเป็นริมฝั่งแม่น้ำและชายทะเล แล้วก็ตั้งขอบเขตสำหรับการทำเหมือง นำเครื่องจักรสำหรับการขุดเข้าไป นำรถสำหรับการขนย้ายทรายเข้าไป เมื่อทุกอย่างพร้อมก็แค่ขุดเอาทรายที่มีอยู่ไปทำประโยชน์ในทางใดทางหนึ่ง บางพื้นที่การทำเหมืองทรายนั้นสร้างความเสียหายอย่างมาก เพราะมันจะต้องขุดเอาทรายออกไป ทำให้ตลิ่งริมน้ำลดขนาดลง ความแข็งแรงของแนวกั้นน้ำตามธรรมชาติก็ไม่เหลือ บางที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกระแสน้ำได้เลยทีเดียว เพราะความกว้างของแม่น้ำมีขนาดเพิ่มมากขึ้น น้ำที่ไหลมาจึงมีความเร็วและแรง กลายเป็นการกัดเซาะชายฝั่งให้มากขึ้นอีก
มาถึงตรงนี้ก็น่าจะมองเห็นภาพคร่าวๆ กันบ้างแล้วว่าเหมืองแร่กับเหมืองทรายนั้นต่างกันอย่างไร ทั้งคู่มีข้อดีและข้อเสีย ในมุมของการอนุรักษ์ธรรมชาติ เหมืองแร่และเหมืองทรายเป็นปัจจัยสร้างความเสียหายค่อนข้างมาก แต่ในมุมของการพัฒนาการทำเหมืองนั้นช่วยส่งเสริมให้การสร้างความเจริญก้าวหน้านั้นดำเนินต่อไปได้ และในระหว่างที่เรากำลังต่อว่าผู้ที่ทำเหมืองอยู่ เราเองก็อาจจะเป็นคนที่ใช้ทรัพยากรที่ได้จากการทำเหมืองมากที่สุดคนหนึ่งเลยก็ได้